คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตร ประกาศความสำเร็จงานวิจัย ชูธงพร้อม “ก้าวสู่ CIRCULAR AGRO-INDUSTRY เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน”

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 คณะอุตสาหกรรมเกษตร จัดงานแถลงข่าวประกาศความสำเร็จงานวิจัย ชูธงพร้อม “ก้าวสู่ CIRCULAR AGRO-INDUSTRY เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน” ตามที่นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นเป้าหมายสำคัญของโลก นับจากนี้ไปการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่านั้น คือ มาตรฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจ และการให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าจะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ และภารกิจของคณะอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย รศ.ดร.ธัญญารัตน์ จิญกาญจน์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ จึงนำทีมนักวิจัยระดับหัวกะทิประกาศความพร้อมก้าวสำคัญในการ “ก้าวสู่ CIRCULAR AGRO-INDUSTRY เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน” อย่างเป็นทางการ

โดยเปิดตัว 6 ผลงานวิจัยนวัตกรรมสุดล้ำแห่งยุคที่ตอบโจทย์ CIRCULAR AGRO-INDUSTRY ได้แก่

  1. การขับเคลื่อนการใช้ rPET ในอุตสาหกรรมอาหาร และบรรจุภัณฑ์ โดย รศ.ดร.อำพร เสน่ห์ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ กล่าวว่าrPET ผลิตมาจากขวดพลาสติกชนิด PET ที่ใช้แล้วด้วยกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดสารปนเปื้อน และผ่านเกณฑ์การทดสอบวัสดุสัมผัสอาหารและการตรวจประเมินความปลอดภัยของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก เพื่อให้ได้ rPET ที่มีคุณภาพมาตรฐาน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อการบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 435) พ.ศ. 2565 ซึ่งผลงานวิจัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
  2. การใช้ประโยชน์จากส่วนเหลือในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเล โดย ผศ.ดร.ทานตะวัน พิรักษ์ ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ กล่าวว่าส่วนเหลือในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเลอย่างเปลือกกุ้ง ก้างปลา หัวปลา เครื่องใน หัวและเท้า ยังมีสารที่มีมูลค่าสูงอยู่ปริมาณมาก เช่น โปรตีน คอลลาเจน แอสตราแซนธิน และโอเมก้า-3 เป็นต้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบสำหรับสกัดสารออกฤทธิ์มูลค่าสูงได้
  3. การพัฒนาผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลสู่วัสดุมูลค่าสูงเพื่อการแพทย์และอาหาร โดย รศ.ประกิต สุขใย ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวว่าการใช้ผลพลอยได้ที่สำคัญจากอุตสาหกรรมน้ำตาลสู่การสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง โดยอนุพันธ์ของเซลลูโลสจากชานอ้อยพัฒนาเป็นส่วนผสมเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุทางการแพทย์ เช่นเดียวกับ กากตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนตจากกระบวนการผลิตน้ำตาลรีไฟน์ สามารถพัฒนาสู่ไบโอเซรามิกเพื่อเป็นสารทดแทนกระดูก ตอบโจทย์การยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศไทย และการพัฒนาตามหลัก BCG”
  4. เครื่องดื่มสารสกัดเปลือกถั่วเขียวและเบคอนเปลือกกล้วยกรอบ Transforming food for fit and firm การพัฒนาอาหารนอกกรอบเพื่อความฟิตและดูดี โดย ผศ.ดร.กฤษกมล ณ จอม ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร กล่าวว่าแนวคิดมาจากความต้องการพิสูจน์ความดีที่ไม่มีใครเคยเห็น ปลดล็อคเปลือกถั่วเขียว และเปลือกกล้วยให้กลายเป็นอาหารนอกกรอบ เพื่อหุ่นฟิต และดูดี ภายใต้โครงการวิจัยชั้นแนวหน้าด้านอาหารเพื่ออนาคต พัฒนาสูตรและการผลิตเครื่องดื่มสารสกัดเปลือกถั่วเขียวที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ส่งเสริมสุขภาพสูง และการผลิตเบคอนกรอบจากเปลือกกล้วย อร่อยและได้สุขภาพ
  5. From Waste to Fashion ส่วนเหลือจากอุตสาหกรรมเกษตรสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ โดย อาจารย์ณัฐดนย์ รุ่งเรืองกิจไกร ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ กล่าวว่าผลงานวิจัยนี้ได้มุ่งเน้นด้าน sustainable products นำผลิตภัณฑ์ หรือวัสดุเหลือใช้นำกลับมาใช้ใหม่ การนำเส้นใยอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาทดแทนฝ้ายที่การปลูกส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแฟชั่น
  6. กิจกรรมส่งเสริม AI Circular สำหรับนิสิต และบุคลากร คณะฯ โดย ผศ.ดร.อภิชญา ลีลาวณิชกุล กล่าวว่า กลยุทธ์การพัฒนาคุณภาพองค์กรเพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) จัดทำโครงการแยกและจัดการขยะ เพิ่มมูลค่าให้ขยะ สร้างความตระหนักให้แก่บุคลากร และนิสิตในคณะ

เพื่อตอกย้ำความสำเร็จ คณะฯได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO) เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิล PET เพื่อนำกลับมาใช้เป็นวัสดุสัมผัสอาหาร และยังมีตัวอย่างความร่วมมือกับอีกหลายแหล่งทุนจากภาครัฐ และเอกชน

“เราพร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy โดยเน้นเป้าหมายการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในระบบอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย ให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกลไก การบริการวิชาการ บริการวิจัย และบริการให้คำปรึกษาในการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมการวิเคราะห์ทดสอบขั้นสูงอย่างครบวงจร เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนสำหรับภาคอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเป้าให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าจะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงมาขับเคลื่อน วัตถุดิบ ที่มาจากผลพลอยได้หรือส่วนเหลือจากอุตสาหกรรมเกษตร ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์อนาคต ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ส่วนผสมอาหารเชิงฟังก์ชัน วัสดุและบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ และวัสดุทางการแพทย์ ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ Zero waste และยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อการกินดีอยู่ดี และการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม” รศ. ดร.ธัญญารัตน์ จิญกาญจน์ กล่าวทิ้งท้าย

งานดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องประชุม 5419 (ห้องโถงแห่งปราชญ์) ชั้น 4 อาคาร 5 คณะอุตสาหกรรมเกษตร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *